ภาวะกระดูกพรุน เราคงคิดว่าเป็นโรคที่เกิดในผู้สูงอายุเท่านั้น เนื่องจากการสร้างของฮอร์โมนที่มีส่วนช่วยในการเสริมสร้างกระดูกลดลง โดยเฉพาะในเพศหญิงที่หมดประจำเดือน แต่รู้หรือไม่ วัย 30-50 ปี ก็สามารถพบกับโรคกระดูกพรุนได้เช่นกัน
เนื่องจากในปัจจุบันนี้เรามักจะหลีกเลี่ยงการออกไปเจอแสงแดดที่มีวิตามินสำคัญที่ช่วยในการดูดซึมแคลเซียมในลำไส้เข้าสู่ร่างกายได้ นั่นคือ “วิตามินดี” ซึ่งแคลเซียมเป็นส่วนประกอบสำคัญที่ช่วยเสริมสร้างมวลกระดูก ทำให้กระดูกมีความแข็งแรงเพิ่มขึ้นนั่นเอง ดังนั้น ถึงแม้ว่า เราจะไม่ได้อยู่กลุ่มวัยหมดประจำเดือน หรือผู้สูงอายุ ก็สามารถมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคกระดูกพรุนได้เช่นกัน
อาชีพที่มักจะทำงานอยู่ในที่ร่มไม่ค่อยได้เจอแสงแดดเลย เช่น พนักงานออฟฟิศ ผู้ที่ทำงานตอนกลางคืน หรือยุคสมัยที่มีการ Work from home อย่างนี้ เป็นอีกสาเหตุสำคัญที่ทำให้โรคกระดูกพรุนคลืบคลานมาที่เราได้โดยไม่รู้ตัว
ล้มแค่ครั้งเดียวกระดูกหักเลย ทั้งที่ไม่ได้ล้มแรง เป็นเพราะโดนใครเล่นของใส่หรือเปล่า? หมอรู้ แต่คนไข้อาจจะยังไม่รู้ โรคนี้สามารถอธิบายได้โดยวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ ผู้ที่ล้มแค่ครั้งเดียวกระดูกหักเลยอาจจะมีโรคกระดูกพรุนมาก่อนอยู่แล้ว และกว่าจะรู้ก็กลายเป็นระยะที่สามารถทำให้กระดูกหักได้อย่างง่ายดาย
โรคกระดูกพรุนมักจะไม่มีอาการแสดงออกมาให้เรารู้ว่า เรากำลังเผชิญกับโรคเงียบที่อันตรายนี้อยู่ อาการที่อาจพบเห็นได้ เช่น ปวดเมื่อยลึกๆตามข้อต่อต่างๆ หลังโค้งงอมากกว่าเดิม ซึ่งเห็นได้ไม่ชัดเจน จนกว่าจะเกิดอุบัติเหตุทำให้กระดูกหักเราถึงจะรู้ตัว
ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงควรได้รับการตรวจมวลกระดูก เพื่อดูว่าเรามีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคกระดูกพรุนหรือไม่ เพื่อที่เราจะได้เตรียมตัววางแผนการดูแลตนเองหรือทำการรักษาป้องกันได้อย่างรวดเร็ว ปัจจุบันนี้มีการรักษาโรคกระดูกพรุนมากมาย ทั้งการทานแคลเซียมหรือการฉีดยาเพื่อเสริมสร้างและป้องกันการสลายของมวลกระดูกได้
ยา Evernity ซึ่งเป็นยาที่ฉีดเข้าบริเวณใต้ผิวหนังทุกๆเดือน ติดต่อกันเป็นเวลา 1 ปี เพื่อยับยั้งการสร้างเซลล์ที่ไปทำลายเซลล์สร้างกระดูก ช่วงส่งเสริมการสร้างของมวลกระดูกที่เพิ่มมากขึ้น และยังมียา Prolia ที่ช่วยดูแลควบคุมการทำลายของมวลกระดูก ช่วยทำให้คงสภาพความแข็งแรงของกระดูกไว้ได้ เป็นยาที่ฉีดเข้าบริเวณใต้ผิวหนังเช่นกัน ฉีดทุกๆ 6 เดือน เพียงเท่านี้ก็สามารถช่วยดูแลรักษากระดูกของเราได้แล้ว
Source:
https://pmc.ncbi.nlm.nih.gov/articles/PMC5335887/
Written by Dr.Matee Phakawech